วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2554

บทบาทและความสำคัญของการเลี้ยงสัตว์
                การเลี้ยงสัตว์นับได้ว่าเป็นวิชาชีพเกษตรกรรมที่เก่าแก่ เป็นวิชาการที่รวมทั้งศิลป์และศาสตร์เข้าด้วยกัน เอื้อประโยชน์ให้กับมนุษย์ชาติหลายประการ ได้แก่ ให้อาหาร แรงงาน เครื่องนุ่มห่ม เครื่องมือเครื่องใช้ เภสัชภัณฑ์ ปุ๋ย และเชื้อเพลิง นอกจากนี้สัตว์ยังถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการทดลองยา เครื่องสำอาง เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ตลอดจนผลิตวัคซีนป้องกันโรคให้กับมนุษย์และสัตว์ด้วยกัน ยิ่งไปกว่านั้นสัตว์ยังให้ความเป็นเพื่อน ความเพลิดเพลินใจ และถูกใช้เป็นเครื่องประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของมนุษย์ อีกทั้งการเลี้ยงสัตว์ยังเป็นการใช้ที่ดินบางประเภทให้เกิดประโยชน์ เช่น พื้นที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ พื้นที่ลาดชัน พื้นที่ใช้ปลูกพืชไม่ได้ เช่น สันเขื่อน ที่สาธารณะ บริเวณใต้สายไฟแรงสูง พื้นที่เหล่านี้มีข้อจำกัดในการเพาะปลูก แต่ใช้เลี้ยงสัตว์ได้ดี นอกจากนี้สัตว์ยังคอยเก็บเศษอาหารเศษเหลือจากการเก็บเกี่ยวพืชผล เช่น ฟาง ตอ ซัง เปลือก ใบ และเศษเหลือจากอุตสาหกรรม มาใช้เป็นอาหารของมันแล้วเปลี่ยนเป็น เนื้อ นม ไข่ สำหรับมนุษย์ต่อไป
บทบาทและความสำคัญของการเลี้ยงสัตว์มีดังต่อไปนี้
                1. สัตว์เป็นอาหารสำคัญของมนุษย์ 
                อาหารนับว่าเป็นหนึ่งในสี่ของความต้องการพื้นฐานในการดำรงชีพของมนุษย์ นอกเหนือจากเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค อาหารนับว่าเป็นสิ่งที่ร่างกายต้องการทุกวันเพื่อ ให้ชีวิตดำรงอยู่ได้เพราะในอาหารมีสารอาหารที่มีคุณค่าจำเป็นต่อการดำรงชีวิต การเจริญเติบโต การสร้างผลิตผล และการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ผลิตผลจากสัตว์ เช่น เนื้อ นม และไข่ เป็นแหล่งอาหารที่บริบูรณ์ด้วยโปรตีน ไขมัน วิตามิน แร่ธาตุ และอื่นๆ ค่อนข้างครบถ้วน คุณภาพของผลิตผลจากสัตว์เหล่านี้ จึงมีความเหมาะสมที่จะใช้เป็นแหล่งอาหารเสริมสำหรับเด็กและทารกได้เป็นอย่างดี  ในท้องถิ่นชนบทจึงควรจะเน้นในเรื่องความเข้าใจและความสำคัญของโภชนาการ และส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ในทุกครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น ให้เป็นเรื่องใกล้ตัวเกษตรกรซึ่งส่วนใหญ่เลี้ยงไก่ เป็ด และสัตว์ปีกอื่น ๆ อยู่แล้ว ควรจะได้ส่งเสริมให้บริโภคมากขึ้น
พร้อม ๆ กับแนะนำการป้องกันโรคระบาดสัตว์ปีกในหมู่บ้านเพื่อลดจำนวนสัตว์ปีกเป็นโรคและตายลง จะได้เพิ่มปริมาณสัตว์ปีกให้มากขึ้น เกษตรกรจะได้นำเนื้อสัตว์มาบริโภคบ้างโดยไม่รู้สึกเสียดาย เพราะในสภาพชนบทสัตว์ปีกจะหากินและเลี้ยงตัวเองโดยเกษตรกรไม่ต้องยุ่งยากหาซื้ออาหารเสริมใด ๆ สำหรับเนื้อจากโค กระบือ และสุกร เกษตรกรไม่ค่อยได้บริโภคมากนัก เพราะเป็นสัตว์ใหญ่ต้องส่งโรงฆ่าสัตว์ หรือเมื่อฆ่าแล้วจำหน่ายได้ยากมาก ยกเว้นกรณีงานมงคลหรืองานฉลองต่าง ๆ เกษตรกรจึงจะ ล้มสัตว์ใหม่เหล่านี้ และบริโภคเนื้อสัตว์กัน ตามปกติแล้วโคกระบือจะเปรียบเสมือนเป็นเพื่อนคู่ทุกข์ คู่ยากในการทำมาหากินของเกษตรกร ทำให้ยิ่งมีโอกาสในการบริโภคเนื้อโคกระบือได้น้อยมาก นอกจากนั้นน้ำนมยังเป็นเรื่องห่างไกลที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรทั่วไปได้ใช้บริโภค เพราะมีราคาแพงและเป็นแหล่งทำรายได้ให้แก่เกษตรกร
                สรุปได้ว่าสัตว์สามารถให้เนื้อ นม ไข่ เป็นอาหารที่สำคัญของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่อยู่ในวัยเด็ก มีความต้องการสูงเพื่อการเจริญเติบโตทางร่างกายและสมอง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคต่าง ๆ ทำให้ร่างกายแข็งแรงกระปรี้กระเปร่า กระฉับกระเฉงในการดำเนินชีวิตประจำวัน ปัญหาคือชาวบ้านในท้องถิ่นชนบทไม่ได้บริโภคอาหารจากสัตว์ที่มีอยู่แล้วในครัวเรือน เนื่องจากสัตว์บางชนิดที่เลี้ยง เช่น โคกระบือเปรียบเสมือนเป็นคู่ทุกข์คู่ยากในการทำมาหากิน โค กระบือ สุกร เป็นสัตว์ขนาดใหญ่ ไม่เหมาะสำหรับการบริโภคในหมู่บ้าน นอกจากนั้นคนไทยส่วนใหญ่ทั้งในเมืองและชนบทยังขาดความรู้ทางหลักโภชนาการที่ดีพอ ไม่เข้าใจคุณค่าของเนื้อ นม ไข่ ต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและสมอง จึงรับประทานอาหารเพื่อให้หายหิว ไม่ได้รับประทานเพื่อพลานามัยของตนเองและครอบครัว จึงสมควรส่งเสริมให้ผลิตสัตว์เป็นอาหารเลี้ยงประชากรโดยเฉพาะชาวชนบทให้ได้บริโภคอาหารคือ เนื้อ นม ไข่ กันมากขึ้น 
นอกเหนือจากเนื้อ นม และไข่ จะเป็นผลผลิตจากสัตว์แล้ว ผลพลอยได้จากสัตว์อีกหลายประการยังนำมาใช้ทำเป็นผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิด ซึ่งเป็นที่นิยมบริโภคของประชากรไทยบางกลุ่ม สำหรับพลเมืองในบางประเทศแถบทวีปยุโรปและอเมริกาไม่นิยมบริโภคประเภท เครื่องในสัตว์และเลือด จึงมักนำไปทำอาหารสัตว์ต่อไป ผลพลอยได้จากสัตว์ยังนำมาใช้ทำผลิตภัณฑ์อาหารได้อีก อาทิ เครื่องในสัตว์จำพวก หัวใจ ตับ ไต ม้าม ลำไส้ใหญ่ ลิ้น สมอง เลือด ใช้ประกอบอาหาร หางโคใช้ทำน้ำซุป แก้มและหัวใช้ทำส่วนผสมในไส้กรอก น้ำย่อยในกระเพาะของลูกโคอ่อนใช้ในกระบวนการทำให้นมแข็งตัวเป็นก้อน (curd) และทำเนยเหลว กระเพาะของสุกร และโคใช้ทำที่หุ้มภายนอกของไส้กรอก ในกระดูกมีน้ำเยลาติน (gelatin) นำไปทำลูกกวาด ไอศกรีม และเยลลี่ ไขมันของสัตว์ใช้ทำแบบ ลูกกวาด และหมากฝรั่ง ลำไส้เล็กใช้ทำที่บรรจุไส้กรอก หนังสุกรและหนังลูกโคใช้ทำ ไอศกรีม เยลลี่
                2. สัตว์ให้เครื่องใช้และเครื่องอุปโภคแก่มนุษย์ 
                นอกจากประโยชน์จากสัตว์ที่มนุษย์ได้รับเป็นหลักคือ เนื้อ นม และไข่ แล้วมนุษย์ยังได้รับประโยชน์เป็นผลพลอยได้จากสัตว์ ภายหลังจากการฆ่าชำแหละนำเนื้อสัตว์มาบริโภค ผลพลอยได้ดังกล่าวได้แก่ หนังโค กระบือ หนังสุกร ขนสัตว์ ไขมัน กระดูก เขา ฟัน หรือเท้าโคกระบือ ต่อมต่าง ๆ ในร่างกาย ปอด และเครื่องในต่าง ๆ มนุษย์ได้นำไปประกอบการแปรรูปผ่านกรรมวิธีทั้งแบบง่าย ๆ และแบบสลับซับซ้อน รวมทั้งออกแบบอย่างเหมาะสมให้มาเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องอุปโภคต่าง ๆ ที่มนุษย์ใช้ประโยชน์ได้อีกหลายหลากชนิด การค้นคว้าประดิษฐ์คิดค้น ทำเครื่องใช้เครื่องอุปโภคจากผลพลอยได้จากสัตว์นี้ยังดำเนินการอยู่ตลอดเวลาเพื่อพยายามหาวิธีใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดและเกิดประโยชน์สูงที่สุด ในขณะที่ผลิตภัณฑ์จากวัตถุหรือสารอื่น ๆ พยายามประดิษฐ์หรือทำเลียนแบบหรือสามารถแทนที่ผลพลอยได้จากสัตว์อยู่เป็นอย่างมาก เช่น วัสดุหนังเทียม สารพลาสติก เป็นต้น ผลพลอยได้จากสัตว์นี้มีการนำไปทำเป็นเครื่องจักร กาว ขนสัตว์ น้ำมัน และอื่น ๆ เพื่อใช้เป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันบ้าง เป็นวัสดุหลักในอุตสาหกรรมต่อเนื่องบ้าง เช่น ปุ๋ย อาหารสัตว์ เป็นต้น
               3. สัตว์เป็นแรงงานในชนบท 
               ในสมัยก่อนเกษตรกรที่อยู่ตามชนของประเทศไทยส่วนใหญ่จะใช้แรงงานจากสัตว์เพื่อใช้ทำงานในไร่นา สัตว์ที่นิยมมาใช้งานได้แก่ โค กระบือ ช้าง ม้า ลา และล่อ เป็นต้น ซึ่งสัตว์เหล่านี้ นอกจากใช้แรงงานกับเกษตรแล้วมูลของสัตว์เหล่านี้ยังนำมาใช้เป็นปุ๋ยใส่ให้กับพืชได้อีกด้วย เกษตรกรแทบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการเลี้ยงสัตว์เหล่านี้ เนื่องจากสัตว์เหล่านี้กินหญ้าซึ่งในชนบทมีอยู่อย่างมากมาย ต่อมามีการนำเข้าเครื่องจักรเครื่องกลเพื่อนำมาใช้ในไร่ นา เกษตรกร ส่วนใหญ่จึงได้ขายโค กระบือ หรือสัตว์อื่นที่ใช้แรงงานไปแล้วนำเงินไปซื้อเครื่องจักรเครื่องยนต์มาใช้ทำงานแทนสัตว์ ทำให้เกษตรมีต้นทุนในการทำการเกษตรเพิ่มขึ้นเนื่องจากต้องซื้อน้ำมันมาใช้กับเครื่องยนต์ และต้องคอยซ่อมบำรุงเครื่องยนต์อยู่ตลอดเวลา ทำให้รายได้ลดลง 
                ปัจจุบันเกษตรกรบางพื้นที่โดยเฉพาะทางภาคอีสาน ได้ตระหนักถึงต้นทุน และผลเสียที่เกิดจากการใช้เครื่องยนต์ และได้รวมตัวกันหันกลับไปใช้สัตว์เพื่อเป็นแรงงานในไร่นาเหมือนเดิมโดยทั่วไปแล้วเกษตรกรนิยมใช้กระบือไถนา ในบางท้องถิ่นของประเทศไทยใช้โคไถนาแทนกระบือซึ่งอาจจะพบเห็นได้ในแถบตะวันตกของประเทศ กระบือมีรูปร่างใหญ่ บึกบึน เป็นสัตว์ซึ่งชอบน้ำ มีกีบใหญ่สามารถเดินในโคลนตมได้สะดวก จึงเป็นที่นิยมของเกษตรกรในการใช้ไถนา การลากเข็นนั้นกระบือสู้โคไม่ได้ โคมีความปราดเปรียวและเดินเร็วกว่า ลากเข็นในที่เรียบได้ดีกว่า แต่กระบือลากเข็นของหนักได้ดีกว่าและใช้งานได้ดีในที่ขรุขระ ไม่ราบเรียบ
                อย่างไรก็ตาม กำลังความสามารถในการฉุดลากของโคกระบือยังขึ้นอยู่กับลักษณะของเครื่องเทียบหรือแอกด้วยการใช้แรงงานสัตว์มีความเหมาะสมกับการเกษตรในชนบทเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเกษตรกรแต่ละรายมีพื้นที่เพาะปลูกเพียงเล็กน้อย โดยเฉลี่ยขนาดพื้นที่ถือครองเพียงครอบครัวละ 26.7 ไร่ การลงทุนทำได้จำกัด เพราะมักขาดเงินสดที่จะซื้อเครื่องจักรทุ่นแรง การเดินทางไม่สะดวก ที่จะว่าจ้างรถไถเพราะอยู่ห่างไกลจากแหล่งชุมชนใหญ่ ๆ แต่การใช้แรงงานจากสัตว์สามารถลงมือไถเตรียมดินเพื่อการเพาะปลูกได้ทันที ช้างเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดที่มนุษย์นำมาใช้แรงงาน งานหนัก เช่น การทำไม้ ขนย้าย ท่อนซุง ได้แรงงานจากช้างคอยช่วยเหลือ ในการทำสงครามสมัยโบราณ ช้างศึกมีบทบาทสำคัญ นอกจากนี้ ช้างยังสามารถช่วยงานทางด้านการเกษตร บรรทุกสิ่งของ แม้กระทั่งไถนา การใช้ช้างไถนา ปรากฏในหลายพื้นที่ในภาคเหนือ เป็นต้นว่า ที่บ้านนาเกียน ต. นาเกียน อ. อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ม้าเป็นสัตว์ที่ถูกใช้งานอย่างหนัก โดยเฉพาะในทวีปยุโรป และอเมริกา สมัยก่อนคนที่ขยันและทำงานหนัก ถูกเปรียบเปรยว่าทำงานอย่างม้า ม้าถูกนำมาใช้ไถนา ลากจูง และเป็นสัตว์พาหนะ สัตว์ในกลุ่มนี้ที่ให้ประโยชน์ด้านแรงงานในลักษณะเดียวกัน ได้แก่ ลา และล่อ
                4. สัตว์ให้ปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยคอก)
                ปุ๋ยคอกได้แก่ส่วนที่เป็นมูลของสัตว์เลี้ยงในไร่นา ซึ่งได้แก่ โค กระบือ สุกร เป็ด และไก่ ซึ่งมีประโยชน์ในการบำรุงดินได้ดีเช่นเดียวกันปุ๋ยวิทยาศาสตร์หรือปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพง ปุ๋ยคอกประกอบด้วยส่วนที่เป็นอินทรีย์ วัตถุที่มีค่าซึ่งไม่มีในปุ๋ยเคมี อินทรียวัตถุมีคุณสมบัติทำให้ดินร่วน ดินดูดซับน้ำได้ดีขึ้น ลดการพังทลายของดินทำให้ดินโปร่ง ช่วยในการระบายอากาศ ทำให้พืชเจริญได้ดี ปุ๋ยคอก 1 ตัน จะมีอินทรียวัตถุประมาณ 200 กิโลกรัม นอกจากจะมีอินทรียวัตถุแล้ว ปุ๋ยคอกยังประกอบไปด้วยธาตุอาหารรองและธาตุอาหารปลีกย่อย ได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม แมงกานีส ทองแดง สังกะสี และโบรอน ปุ๋ยคอกจะมีธาตุอาหารพืชแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับอาหารที่สัตว์กิน ชนิดของสัตว์และอายุของสัตว์ โดยเฉลี่ยแล้วพบว่าปุ๋ยคอกแห้ง 1 ตัน จะมีธาตุไนโตรเจน 5 กิโลกรัม ธาตุฟอสฟอรัส 2.5 กิโลกรัม ธาตุโพแทสเซียม 5 กิโลกรัม หรือมีคุณค่าทางอาหารพืชเทียบเท่ากับปุ๋ยวิทยาศาสตร์สูตร 10-5-10 จำนวน 50 กิโลกรัม 
                การเลี้ยงสัตว์เป็นส่วนประกอบหนึ่งในการทำการเกษตรกรรม ในแต่ละปีสัตว์ขับถ่ายมูลออกมาเป็นจำนวนมาก โคกระบือถ่ายมูลสดไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ของน้ำหนักตัวต่อวัน สุกรขุนระยะกำลังเจริญเติบโตจะถ่ายมูลสดวันละประมาณร้อยละ 5 – 6 ของน้ำหนักตัว สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คำนวณว่า การขับถ่ายของเสียของโคประมาณตัวละ 7 ตันต่อปี กระบือประมาณตัวละ 10 ตันต่อปี สุกรประมาณตัวละ 1 ตันต่อปี เป็ดไก่ประมาณตัวละ 0.009 ตันต่อปี เมื่อคิดรวมมูลสัตว์ทั้งประเทศจะมีปริมาณเฉลี่ย 92 ล้านตันต่อปี และถ้าคิดเป็น น้ำหนักแห้งโดยประมาณว่าน้ำหนักลดลงร้อยละ 75 จะเป็นปุ๋ยมูลสัตว์ประมาณ 23 ล้านตัน จากการประเมินการใช้ปุ๋ยธรรมชาติในประเทศไทยพบว่าใช้ปุ๋ยธรรมชาติได้เพียงประมาณ 6 ล้านตันเท่านั้น นับว่ายังนำปุ๋ยมูลสัตว์ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ยังไม่เต็มที่ นักวิชาการจึงได้เน้นอยู่เสมอว่า เกษตรกรจะต้องใส่ปุ๋ยอินทรีย์ในพื้นที่เพาะปลูกอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน
                5. การเลี้ยงสัตว์มีบทบาทต่อเสถียรภาพของสังคมชนบท
                คนในชนบทมีวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงอยู่หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นโค กระบือ ช้าง ม้า ฯลฯ ทั้งในด้านจิตใจและทั้งในด้านทำให้เกิดรายได้กับตนเอง ดังนั้นสัตว์เลี้ยงกับคนชนบทจึงแยกออกจากกันไม่ได้ ซึ่งเราพอที่จะบอกบทบาทของสัตว์ที่มีต่อคนชนบทได้ดังนี้
                                5.1 แก้ปัญหาการว่างงาน หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว เกษตรกระจะต้องรอฤดูฝนในปีต่อไป จึงมักจะมีเวลาว่างนานกว่า 6 เดือน การเลี้ยงสัตว์จะช่วยให้เกษตรกรมีงานทำอย่างต่อเนื่อง และเป็นการเพิ่มรายได้อีกด้วย 
                                5.2 ให้ประโยชน์ด้านสังคมความเป็นอยู่ในชนบท ชีวิตของคนชนบทมีความผูกพันกับสัตว์อย่างแน่นแฟ้ม เช่น โค กระบือเป็นสัตว์ เลี้ยงที่เกษตรกรถือว่าเป็นสมาชิกของครอบครัว เป็นเพื่อนร่วมชีวิตในการประกอบกสิกรรม เป็นมรดกให้แก่ลูกหลาน เป็นธนาคารประจำบ้านหรือเป็นแหล่งทุนทรัพย์ในยามขัดสนเงินทอง ใช้ในพิธีการสำคัญ ๆ เช่น พิธีแรกนาขวัญ สู่ขวัญควาย ฯลฯ และการกีฬา เช่น แข่งควาย วัวลาน ไก่ชน เป็นต้น 
                                5.3 แก้ปัญหาการอพยพย้ายถิ่นของคนในชนบท ถ้าเกษตรกรทำการเลี้ยงสัตว์มีรายได้เพิ่มขึ้น การที่เกษตรกรจะละทิ้งถิ่นฐานไปหางานใหม่ก็จะไม่เกิดขึ้น 

            ประโยชน์ของการเลี้ยงสัตว์
               การเลี้ยงสัตว์ให้ประโยชน์ต่อผู้เลี้ยงมากมายหลายประการ ผู้ที่ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์สามารถสร้างฐานะจนร่ำรวยได้ เป็นอาชีพที่ได้ผลตอบแทนสูง หากมองในภาพรวมตั้งแต่ผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ ชุมชน สังคม และประเทศชาติได้รับประโยชน์จากการเลี้ยงสัตว์ทั้งสิ้น ซึ่งพอสรุปประโยชน์ของการเลี้ยงสัตว์ได้ 4 ประการใหญ่ ๆ ดังนี้
1. ประโยชน์ของการเลี้ยงสัตว์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ 
                สัตว์เลี้ยงจำพวกโคกระบือ สุกร ไก่และเป็ด ล้วนมีบทบาทต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นสินค้าจำหน่ายเพื่อการบริโภค เนื้อ นม ไข่ โดยตรงแล้ว ยังมีผลพลอยได้หลายชนิดทำเป็นเครื่องอุปโภคและเครื่องใช้ได้หลาย ๆ ประเภท สินค้าบางชนิด มีปริมาณมากจนกระทั่งสามารถส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศได้ด้วย นับว่าผลผลิตจากสัตว์นี้ ช่วยลดการเสียดุลการค้าได้ประการหนึ่ง ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทยมีอาชีพทำการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ แม้ว่าจำนวนผู้ประกอบอาชีพเกษตรจะมีแนวโน้มลดลงอันเป็นผลมาจากทิศทางของระบบเศรษฐกิจไทยมุ่งไปสู่การประกอบการด้านอุตสาหกรรม การเลี้ยงสัตว์นับเป็นอาชีพที่สำคัญของเกษตรกรไทย ด้วยเหตุผล ดังนี้ 
                                1.1 ทำให้รายได้เงินสดทางการเกษตรต่อครัวเรือนเกษตรกรสูงขึ้น รายได้เงินสดทางการเกษตรต่อครัวเรือนของเกษตรกรได้จากการเลี้ยงสัตว์ การเพาะปลูกพืชและอื่น ๆ
                                1.2 เกิดระบบการเกษตรที่สำคัญ และเกื้อกูลต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันระบบ การเกษตรที่กำลังเป็นที่สนใจแก่วงการเกษตรของไทยในปัจจุบัน คือ ระบบการเกษตรผสมผสาน (integrated farming system) ทำให้เกิดระบบการผลิตที่กว้างขวางขึ้น และนับแต่ปี พ.ศ. 2532 เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชดำริให้กรมวิชาการเกษตรทำการทดสอบ โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่พระองค์มีพระราชดำริให้กรมวิชาการเกษตรทำการทดสอบ โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับ โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ในวันที่ 4 ธันวาคม 2537 เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา จากนั้นกรมวิชาการเกษตรได้เริ่มทำการทดลองในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ต่อมาในปี 2539 ประเทศไทยเกิดภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เกิดผู้ว่างงานมากขึ้น รัฐบาลจึงเร่งขยายผลเพื่อรองรับ เกษตรกรคืนถิ่น คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบสนับสนุนโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่อย่างเป็นรูปธรรมในวันที่ 4 ธันวาคม 2540 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับ เศรษฐกิจพอเพียง แก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา   ในปี พ.ศ. 2541 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับเงินอนุมัติ 54.68 ล้านบาท ดำเนินโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แบ่งออกได้เป็น 3 ขั้นตอน สำหรับพัฒนาเกษตรกรที่ยากจนที่ต้องพึ่งน้ำฝนตามธรรมชาตินอกเขตชลประทานโดยมีขั้นตอนดังนี้
                ขั้นตอนที่ 1 ว่าด้วยการจัดหาและจัดสรรน้ำให้เพียงพอแก่การทำการเกษตรเพื่อให้แต่ละครอบครัวยังชีพหรือเลี้ยงดูตัวเองได้ โดยมีการแบ่งที่ดินออกเป็น 4 ส่วน คือ แหล่งน้ำต่อพื้นที่ทำนาต่อพื้นที่ทำสวนไม้ผล พืชไร่ พืชสมุนไพร พืชผักต่อที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ คอกสัตว์ เท่ากับ 30 ต่อ 30 ต่อ 30 ต่อ 10 ภายใต้พื้นที่ 15 ไร่ ในอัตราส่วน โดยประมาณ 3 ต่อ 5 ต่อ 5 ต่อ 2 ไร่ ตามลำดับ 
                ขั้นตอนที่ 2 ว่าด้วยการพัฒนาสังคมของเกษตรกรหลังจากที่แค่ละครอบครัว เลี้ยงดูตัวเองได้ โดยการวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ ในรูปของกลุ่มหรือสหกรณ์ เช่น ในด้านการผลิต การตลาด การเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา สังคมและศาสนา 
                ขั้นตอนที่ 3 ว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจที่ติดต่อกับโลกภายนอก (ภาคธุรกิจและเอกชน) หลังจากที่เกษตรกรได้จัดองค์กร (สหกรณ์) แล้ว เพื่อดำเนินธุรกิจระหว่างองค์กรเกษตรกรกับภาคธุรกิจและเอกชน ทำให้เกิดอำนาจต่อรองและลดความเสี่ยง 
                                1.3 เป็นการเสริมพื้นฐานทางโภชนาการ ทำให้เกษตรกรอยู่ดีกินดี ได้รับอาหารที่มีคุณค่าสูง การบริโภคเนื้อสัตว์ของคนไทยมีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันปริมาณการบริโภค ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มประชาคมยุโรปที่มีการบริโภคเนื้อสัตว์มากจนถึงจุดอิ่มตัว จากการสำรวจข้อมูล พบว่าในประเทศที่มีการบริโภคเนื้อสัตว์จนถึงจุดอิ่มตัว ประชากรบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลง โดยมุ่งเน้นคุณภาพเนื้อสัตว์เป็นอย่างมาก และเป็นที่น่าสังเกตว่าเนื้อสัตว์ ที่ได้รับความนิยมบริโภคกันมาก คือ เนื้อสุกร ซึ่งในบางประเทศบริโภคเนื้อสุกรสูงถึงระดับ 50 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ในขณะที่คนไทยบริโภคเนื้อสุกรเพียง 12 กิโลกรัมต่อคนต่อปี 
                                1.4 การเลี้ยงสัตว์ให้ผลพลอยได้ (by – product) ที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตประจำวันของมนุษย์ ผลพลอยได้ที่มนุษย์ได้รับจากสัตว์ ได้แก่
 
                                                1.4.1 เครื่องในสัตว์ (offal) หมายถึง ส่วนที่กำจัดออกจากซากสัตว์ตายในขั้นตอนการฆ่าและชำแหละซาก ไม่รวมหนัง (hide) ในประเทศอังกฤษอนุญาต ให้นำเครื่องในสัตว์มาทำอาหารได้ ได้แก่ กระบังลม เนื้อจากส่วนหัว หัวใจ ลิ้น เนื้อส่วนหาง ส่วนเครื่องในที่ห้ามไม่ให้นำมาทำอาหาร ได้แก่ เลือด สมอง ลำไส้ใหญ่ ปอด ตับ ม้าม กระเพาะ
                                               
1.4.2 เลือด (blood) ใช้ทำเป็นอาหารสัตว์ ที่เรียกว่า เลือดป่น” (blood meal) ซึ่งจัดเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์กลุ่มโปรตีน โดยมีกรรมวิธีการทำแบบต่าง ๆ เช่น นำเลือดใส่กระทะ ทำให้แห้งแล้วบดละเอียด (pan dry) หรือนำเลือดมาพ่นเป็นฝอยผ่านอุโมงค์ลมร้อน เลือดจะตกมาเป็นเม็ดฝอยเล็ก ๆ ทำให้แห้งอีกครั้ง (spray dry)
                                                1.4.3 กระดูก (bone) นำมาทำเป็นอาหารสัตว์ที่เรียกว่า กระดูกป่น” (bone meal) จัดเป็นอาหารแร่ธาตุที่สำคัญที่ให้ธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัสแก่สัตว์ 
                                                1.4.4 ขนสัตว์ปีก (feather) เช่น ขนไก่ สามารถนำมาผ่านขบวนการสลายตัว ทำให้ได้ ขนไก่ป่นที่สลายตัวแล้ว” (hydrolyzed feather meal) จัดเป็นอาหารสัตว์กลุ่มโปรตีนชนิดหนึ่ง
 
                                                1.4.5 ไขมัน (fat) นำไปผ่านความร้อนจะได้น้ำมันเพื่อนำไปใช้ทำขนม และอาหารสำเร็จรูปต่างๆ
 
                                                1.4.6 ต่อมและเนื้อเยื่อ (gland and tissues) นำไปสกัดเอาฮอร์โมนหรือสารอื่น ๆ ออกมาเพื่อประโยชน์แก่วงการแพทย์
 
                                                1.4.7 หนัง (hide) นำมาทำเป็นเครื่องหนังต่างๆ เช่น กระเป๋า รองเท้า เข็มขัด ฯลฯ ผลพลอยได้จากสัตว์ถูกนำไปผ่านขบวนการผลิตที่มีเทคนิคสูง ใช้ความรู้ทางวิชาการตั้งแต่การรวบรวม การเก็บรักษา การจัดเกรด ตามคุณภาพ การแปรรูป จนถึงด้านการตลาด
 
                                1.5 การเลี้ยงสัตว์ทำให้เกิดอุตสาหกรรมลูกโซ่ กล่าวคือ เมื่อมีการเลี้ยงสัตว์ก็จะเกิดอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย เช่น โรงงานผลิตอาหารสัตว์ โรงงานฆ่าสัตว์ โรงงานปลาป่น โรงงานแปรรูปสัตว์ โรงงานผลิตภัณฑ์นม เกิดธุรกิจการขนส่ง ฯลฯ ซึ่งจะทำให้คนมีงานทำมากขึ้นเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยส่วนรวม
 
                                1.6 การเลี้ยงสัตว์ทำให้เกิดรายได้จากการส่งสินค้าออกทำให้รายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้น และในขณะเดียวกัน ทำให้สงวนเงินตราในการที่จะต้องซื้อเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์สัตว์จากต่างประเทศ ประเทศไทยมีรายได้จากการส่งสัตว์มีชีวิต ผลิตภัณฑ์จากสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมออกต่างประเทศและสั่งสินค้าจำพวกเนื้อสัตว์ นม และผลิตภัณฑ์สัตว์เข้ามาบริโภคในประเทศ ซึ่งถ้าหากประเทศไทยเรามีการเลี้ยงสัตว์มากขึ้นจะทำให้รายได้จากการส่งสินค้าออกทวีขึ้น และลดเงินตราที่จะต้องซื้อเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์สัตว์จากต่างประเทศให้เหลือน้อยลง
                                1.7 การเลี้ยงสัตว์ช่วยลดค่าขนส่งพืชผลทางการเกษตร เป็นที่ทราบกันแล้วว่า ประเทศไทยมีการปลูกพืชจำพวกธัญพืช มัน ถั่ว เป็นจำนวนมาก ซึ่งพืชเหล่านี้สามารถใช้เลี้ยงสัตว์ได้ดี เท่าที่ผ่านมาเกษตรกรขายสินค้าพวกนี้ในรูปวัตถุดิบ ซึ่งต้องเสียค่าขนส่งจำนวนมาก หากเรานำวัตถุดิบเหล่านี้มาใช้เลี้ยงเสียก่อน ก็จะทำให้วัตถุดิบถูกเปลี่ยนเป็นเนื้อสัตว์ นม ไข่ ซึ่งมีน้ำหนักน้อยลง แต่มีราคาสูงขึ้น แล้วนำเอาผลผลิตเหล่านี้ไปขายแทน ก็จะช่วยลดค่าขนส่งหลายเท่า ซ้ำยังขายได้ราคาดีกว่าขายวัตถุดิบอีกด้วย
                                1.8 การเลี้ยงสัตว์เป็นสิ่งที่ช่วยลดผลกระทบจากเงินเฟ้อ มูลค่าที่อยู่ในตัวสัตว์จะแปรผันตามภาวะเศรษฐกิจ ไม่ลดค่าลงเหมือนการเก็บรักษาเงินสด ยิ่งไปกว่านั้นในระบบเกษตรผสมผสานมักพบเสมอว่าสัตว์เลี้ยงมีบทบาทเกื้อกูลรายได้ให้เกษตรกรเมื่อราคาพืชผลตกต่ำหรือผลผลิตพืช ล้มเหลวจากภัยธรรมชาติต่างๆ สัตว์เลี้ยงจึงเป็นแหล่งทุนสำรองที่มั่นคงของเกษตรรายย่อยในชนบท
                2. ประโยชน์ของการเลี้ยงสัตว์ด้านเกษตรกรรม 
การเลี้ยงสัตว์มีความสัมพันธ์กับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมด้านอื่น ๆ หลายด้าน ซึ่งล้วนแต่มีความสัมพันธ์ทั้งสิ้น คือ
                                2.1 การใช้แรงงานจากสัตว์ ประเทศไทยมีเนื้อที่ในการทำนาในปัจจุบันประมาณ 75 ล้านไร่
 ซึ่งถ้าหากใช้รถแทรกเตอร์ไถนาเป็นเครื่องทุ่นแรงในการทำนาจะต้องใช้รถแทรกเตอร์ไถนาไม่ต่ำกว่า 2 แสนคัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะสภาวะทางเศรษฐกิจและระดับความรู้ทางเทคนิคของเกษตรกรไทยยังไม่อำนวย อีกทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นเป็นอุปสรรคต่อการที่เกษตรกรจะใช้เครื่องทุนแรงให้แพร่หลายได้ ดังนั้น แรงงานที่ใช้ในการเกษตรกรรมส่วนใหญ่จึงมาจากการเลี้ยงโค กระบือนั่นเอง 
                                2.2 การเลี้ยงสัตว์ช่วยเปลี่ยนแปลงผลผลิตในฟาร์ม ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถที่จะใช้ผลิตผลนั้นได้โดยตรง มาเป็นอาหารที่มีคุณค่าและมนุษย์ชอบ
 นอกจากนั้น สัตว์ยังเปลี่ยนผลผลิตที่เหลือจากมนุษย์กินมาเป็น เนื้อซึ่งได้ราคาสูงกว่าการขายผลิตผลนั้นโดยตรง จึงอาจกล่าวได้ว่า สัตว์เปรียบเสมือนตลาดรับซื้อพืชผลซึ่งมีราคาถูกแล้วเปลี่ยนเป็นเนื้อเพื่อให้ขายได้ราคาแพง หรือถ้าจะพูดอีกอย่างหนึ่งคือ การเลี้ยงสัตว์ช่วยทำให้ผลผลิตที่เกษตรกรผลิตได้มีราคาสูงขึ้น ย่อมเป็นผลทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ถ้าหากเอาผลิตผลเหล่านั้นเลี้ยงมนุษย์อย่างเดียว 
                                2.3 การเลี้ยงสัตว์ช่วยลดต้นทุนการผลิตทางด้านเกษตรอื่นๆ เช่น การเลี้ยงปลาควบคู่กับการเลี้ยงสุกร โดยใช้มูลสุกรเป็นอาหารของปลา การใช้มูลไก่แห้งตั้งแต่ 10-40 เปอร์เซ็นต์ ของอาหารผสมเป็นอาหารของไก่ไข่และวัวเนื้อได้ ในภาคใต้ของประเทศไทยนิยมเลี้ยงวัวในสวนมะพร้าว เพื่อให้วัวกำจัดหญ้าในสวนมะพร้าว และให้มูลแก่มะพร้าว ทำให้มะพร้าวเจริญเติบโตและให้ผลดกขึ้น                 
                2.4 สัตว์ช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน ทั้งนี้ เพราะมูลของสัตว์ประกอบด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ ซึ่งเป็นปุ๋ยแก่พืชสัตว์จะให้มูลซึ่งนับเป็นปุ๋ยคอก (manure) หรือปุ๋ยอินทรีย์ (organic fertilizer) ที่ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง แม้ว่าจะเป็นปุ๋ยที่มีอัตราการสลายตัว (decompose rate) ช้า แต่ปุ๋ยคอกจะช่วยทำให้โครงสร้างของดินดี ขึ้น มูลสัตว์ต่างๆ มีไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโปตัสเซียม (K) ดังนี้ มูลโครุ่นมีค่าเท่ากับ 1.7 , 1.6 และ 0.5 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักแห้ง ตามลำดับ มูลสุกรมีค่าเท่ากับ 3.8 , 2.1 และ 1.3 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักแห้ง ตามลำดับ มูลไก่มีค่าเท่ากับ 6.5 , 1.8 และ 1.8 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักแห้ง ตามลำดับ ส่วนมูลกระบือเชื่อว่ามีค่าใกล้เคียงกับมูลโค นักวิชาการจึงได้เน้นอยู่เสมอว่าเกษตรกรจะต้องใส่ปุ๋ยอินทรีย์ในพื้นที่เพาะปลูกพืชอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะพื้นที่ที่ต้องการเพิ่มผลผลิตพืชมากขึ้น ๆ สัตว์เลี้ยงพวกโค กระบือ จะถ่ายมูลสดไม่ต่ำกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวต่อวัน การประมาณมูลสดที่ได้จากสัตว์ชนิดต่างๆ
                                2.5 การเลี้ยงสัตว์ช่วยกำจัดวัชพืชได้เป็นอย่างดี วัชพืชบางอย่าง เช่น หญ้าคา ผักตบชวา เป็นศัตรูที่ร้ายแรงต่อการปลูกพืชเป็นอย่างมาก ปีหนึ่ง ๆ เกษตรกรต้องเสียค่าใช้จ่าย ในการกำจัดวัชพืชเหล่านี้เป็นเงินหลายล้านบาท ถ้าหากเกษตรกรนำเอาวัชพืชเหล่านี้มาใช้เลี้ยงสัตว์ก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ และเป็นการประหยัดค่าอาหารสัตว์ไปในตัวอีกด้วย ตัวอย่าง เช่น การนำเอาผักตบชวาตากแห้งมาเป็นส่วนผสมของอาหารสุกรได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของอาหารทั้งหมด ทั้งนี้ เพราะผักตบชวาตากแห้งมีโปรตีนถึง 20.50 เปอร์เซ็นต์ คาร์โบไฮเดรต 33.6เปอร์เซ็นต์
                                2.6 ที่ว่างซึ่งใช้ประโยชน์ในด้านเพาะปลูกไม่ได้ผล เช่น ทุ่งหญ้าในภาคอีสาน ที่ดินเค็มในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ก็สามารถนำมาใช้เลี้ยงสัตว์ได้ดีเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ คุ้มค่า โดยอาจคัดแปลงที่ดินดังกล่าวมาใช้เลี้ยงสัตว์ได้โดยการสร้างโรงเรือนหรือคอกสัตว์ในบริเวณนั้นแทนที่จะปล่อยให้พื้นที่ว่างเปล่าโดยไร้ประโยชน์
3. ประโยชน์ของการเลี้ยงสัตว์ด้านสังคม
การเลี้ยงสัตว์ช่วยแก้ไขปัญหาสังคมหลายประการ ซึ่งล้วนแต่เกื้อกูลสังคมทำให้สังคมส่วนใหญ่ของประเทศเป็นปกติสุข ดังนี้
                                3.1 ลดปัญหาการว่างงานของประชาชน การที่ประชาชนในชาติไม่มีงานทำ ย่อมก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาอย่างมากมาย เช่น ชาวชนบทมีการอพยพจากไร่นาสู่เมือง ปัญหาโจรผู้ร้ายชุกชุม เพราะความยากจน ปัญหาโสเภณี ปัญหาจากผู้ก่อการร้าย ปัญหาการเกิดแหล่งเสื่อมโทรมเนื่องจากการอพยพจากชนบทสู่เมือง เป็นต้น หากประชาชนได้ประกอบอาชีพการเลี้ยงสัตว์ก็จะช่วยให้มีงานทำประจำปัญหาทางสังคมอันเกิดจากการว่างงานก็จะหมดไป
                                3.2 ผลิตผลจากสัตว์ช่วยบำรุงพลานามัยของประชาชนอันเป็นกำลังของชาติ เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า เนื้อ นม ไข่ เป็นอาหารพิเศษสำหรับพลานามัยของมนุษย์ ทำให้ ผู้บริโภคมีร่างกายแข็งแรงเติบโต ปราศจากโรคภัย มีความคิดเฉลียวฉลาด มีความเข้มแข็งในการปฏิบัติงานและภารกิจ ซึ่งผลท้ายสุดก็จะก่อให้เกิดความมั่นคงของประเทศชาติ เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีรายงานจากประเทศญี่ปุ่นกล่าวว่า คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่มีความสูงมากกว่าคนญี่ปุ่นรุ่นเก่า (ก่อนสงครามโลก) ถึง 4 นิ้ว เขาอ้างว่า ทั้งนี้ เป็นเพราะคนญี่ปุ่นนิยมรับประทานอาหาร เนื้อ นม ไข่ กันมากขึ้น นม ไข่ นั้นมีวิตามินและสารอาหาร แร่ธาตุ บางอย่างที่หาไม่ได้หรือมีเพียงเล็กน้อยในอาหารประเภทอื่น ๆ นักโภชนาการได้วิเคราะห์จำนวนโปรตีนในไข่ เนื้อไก่และสุกร ไว้ดังนี้ ไข่ 12.7 เปอร์เซ็นต์ ไก่ 21.4 เปอร์เซ็นต์ และสุกร 15.7 เปอร์เซ็นต์
                                3.3 การเลี้ยงสัตว์เป็นการให้การศึกษาแก่สมาชิกในครอบครัว โดยทั่วไปแล้วการประกอบอาชีพการเกษตรมักจะกระทำสืบต่อไปยังลูกหลาน ดังนั้น ในการที่ให้ลูกหลานได้ช่วยปฏิบัติงานเลี้ยงสัตว์อย่างถูกต้อง จึงเป็นการให้การศึกษาแก่บุตรหลานผู้ซึ่งต่อไปจะต้องประกอบอาชีพการเกษตรอยู่แล้ว เป็นการวางรากฐานอาชีพการเกษตรให้แก่เขา ถ้ามีโอกาสทำการเกษตรในโอกาสต่อไปก็จะเป็นเกษตรกรที่ดี สามารถประสบผลสำเร็จได้
 
                                3.4 การเลี้ยงสัตว์เป็นการใช้แรงงานภายในครอบครัวให้เป็นประโยชน์ แรงงานจากเด็ก คนชรา หรือคนทุพพลภาพ สามารถนำมาใช้เลี้ยงสัตว์ได้เป็นอย่างดี หากนำมาใช้ประโยชน์ในเรื่องนี้ก็จะเป็นการช่วยป้องกันการสูญเปล่าทางแรงงาน และช่วยให้บุคคลดังที่กล่าวมาแล้ว ได้มีความภาคภูมิใจในความสามารถของตน และเห็นว่าตนก็สามารถทำประโยชน์ให้แก่ครอบครัวได้เช่นกัน
                                3.5 การเลี้ยงสัตว์เป็นการฝึกนิสัยของผู้ประกอบการ ให้มีความรับผิดชอบ การตรงต่อเวลาและรู้จักการประหยัด
                                3.6 การเลี้ยงสัตว์ช่วยสร้างความเพลิดเพลินให้กับผู้ปฏิบัติ อันจะทำให้มีสุขภาพจิตที่ดี คลายความเครียด
4. ประโยชน์ด้านอื่น ๆ ของการเลี้ยงสัตว์
นอกจากประโยชน์ดังที่กล่าวมาแล้ว การเลี้ยงสัตว์ยังมีประโยชน์ในด้านอื่น ๆ อีกมากมายหลายประการซึ่งล้วนก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชากรของประเทศทั้งสิ้น ทั้งในด้าน อุตสาหกรรม ด้านพลังงาน การแพทย์ และการกีฬา เป็นต้น ได้แก่
                                4.1 การเลี้ยงสัตว์ช่วยทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเครื่องหนังอุตสาหกรรมการทำปุ๋ยวิทยาศาสตร์จากกระดูกสัตว์
 
                                4.2 การผลิตพลังงานจากมูลสัตว์ เช่น การผลิตแก๊สชีวภาพ (bio – gas) ทำได้โดยหมักมูลสัตว์ให้เกิดแก๊สมีเทน ซึ่งการผลิตแก๊สจากมูลสัตว์นี้กระทำแพร่หลายมากในประเทศอินเดีย ไต้หวัน สำหรับในประเทศไทยมีการผลิตแก๊สจากมูลสัตว์เพื่อใช้กับเครื่องสูบน้ำที่จังหวัดนครปฐม และผลิตแก๊สจากมูลสัตว์เพื่อใช้ในการหุงต้ม ที่ฟาร์มคีรีขันธ์ จังหวัดปทุมธานี
 
                                4.3 การทำวัคซีนป้องกันโรคของสัตว์และของคน โดยผลิตจากไข่และเลือดของสัตว์
 
                                4.4 การทำกาวจากหนังสัตว์ ทำยาฟอกหนัง เครื่องสำอางจากไข่
 
                                4.5 การเลี้ยงสัตว์เพื่อใช้กันขโมย การฝึกสุนัขเพื่อใช้จับคนร้าย และใช้ในการสงคราม
                                 4.6 การเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นเกมกีฬา เช่น การแข่งม้า ขี่มาโปโล และการชนไก่เป็นต้น

                ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์
หัวใจสำคัญของการเลี้ยงสัตว์นั้น คือ การเลี้ยงให้ได้กำไรสูงสุด ซึ่งหมายถึงการผลิตที่มีต้นทุนต่ำที่สุดและขายได้ราคาสูงสุด ดังนั้นในการเลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุถึงจุดหมายนี้ ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องเรียนรู้และศึกษาถึงข้อดีข้อเสีย รวมทั้งปัจจัยต่างๆ ที่จะมีผลกระทบต่อการผลิตสัตว์และการตลาดให้ถ่องแท้เสียก่อน สำหรับในกิจการเลี้ยงสัตว์ประเภทเป็นงานอดิเรกหรือการเลี้ยง ในระบบหลังบ้าน ซึ่งมีการลงทุนต่ำ และรายได้จากการเลี้ยงสัตว์ยังเป็นรายได้เสริม การสนใจศึกษาถึงข้อดีข้อเสียตลอดจนวิธีการผลิตให้ได้กำไรสูงสุด อาจจะยังไม่สำคัญและจำเป็นเท่ากิจการเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพหลัก ซึ่งรายได้ทั้งหมดมาจากผลิตผลของสัตว์ และมักจะต้องใช้เงินลงทุนสูง เลี้ยงสัตว์เป็นปริมาณมาก ดังนั้น ผู้ที่คิดจะเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพหลัก จึงควรศึกษาหาความรู้ในแง่ต่าง ๆ รวมทั้งปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสัตว์ชนิดนั้น ๆ ให้รู้ซึ้งและแน่ใจก่อน จึงจะตัดสินใจลงทุนเลี้ยงสัตว์ต่อไป  ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. การเริ่มต้นเลี้ยงสัตว์
ผู้ที่จะเริ่มต้นเลี้ยงสัตว์นั้นจะต้องมีการศึกษาข้อมูล หาความรู้เพิ่มเติม เป็นผู้ที่มีความกระตือรือร้น ขยัน อดทน ทั้งนี้ เพราะสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการการเอาใจใส่ดูแลเป็นพิเศษ การเริ่มต้นเลี้ยงสัตว์มีดังนี้
 
                                1.1 ลักษณะของผู้ที่จะเลี้ยงสัตว์สำเร็จ ผู้ที่จะเลี้ยงสัตว์ได้สำเร็จสมควรจะต้องมีลักษณะและนิสัยดังต่อไปนี้
 
                                                1.1.1 ต้องมีนิสัยรักและชอบสัตว์ ความรักชอบจะเป็นเหตุให้ผู้เลี้ยงเอาใจใส่ ดูแลสัตว์อยู่เสมอ ผู้เลี้ยงสัตว์บางคนเห็นคนอื่นลงทุนเลี้ยงสัตว์แล้วรวยก็เลี้ยงตามตัวอย่างบ้าง แต่พอลงทุนเลี้ยงไปแล้ว พบว่านิสัยไม่ชอบและเหมาะสมกับการเลี้ยงสัตว์ ทำให้กิจการเลี้ยงสัตว์ต้องล้มเลิกไปในที่สุด
                                                1.1.2 ต้องแสวงหาความรู้ความชำนาญอยู่เสมอ ความรู้และความชำนาญนับว่าเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการผลิตสัตว์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ความรู้อาจจะศึกษาได้จากตำราวิชาการต่าง ๆ ซึ่งจะมีรายงานถึงการค้นพบใหม่ ๆ ออกมาเรื่อย หรือศึกษาจากตัวสัตว์เอง ในขณะที่ความชำนาญจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์และการปฏิบัติด้วยตัวเองเป็นหลัก
                                                1.1.3 ต้องเป็นคนละเอียดรอบคอบ เนื่องจากสัตว์พูดไม่ได้ ฉะนั้นผู้เลี้ยงจำเป็นต้องคอยตรวจตราสังเกตอยู่เสมอ การมองข้ามจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจเป็นสาเหตุทำให้กิจการเลี้ยงสัตว์ต้องขาดทุน ล้มเลิกได้
                                                1.1.4 ต้องเป็นคนสู้งาน การเลี้ยงสัตว์จะต้องเป็นผู้ทำงานด้วยตนเองบ้าง งานบางอย่างจะวางใจให้คนอื่นทำแทนไม่ได้ เนื่องจากความกระตือรือร้นและความเอาใจใส่ทุ่มเทกับงานของลูกจ้างมักจะไม่สูงเท่าเจ้าของกิจการเองและการทำงานด้วยตนเอง เท่ากับเป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์และความชำนาญให้ตัวเองด้วย
                                                1.1.5 ต้องเป็นคนกล้าและมีมานะ เพราะกิจการเลี้ยงสัตว์กว่าจะพบความสำเร็จต้องพบปัญหาอุปสรรคหลายอย่าง เนื่องจากมีปัจจัยต่าง ๆ เป็นตัวแปรมาก โดยเฉพาะปัญหาด้านการตลาด ราคาผลิตผลจากสัตว์และราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งเมืองไทยยังไม่มีระบบประกันราคาที่แน่นอน ราคาขึ้นลงอยู่เสมอ ฉะนั้น ถ้าไม่กล้าสู้และไม่มีความพยายามแล้ว เมื่อพบปัญหาอุปสรรคก็จะเกิดความท้อถอยและเลิกเลี้ยงได้
                                1.2 การเลือกสถานที่เลี้ยงสัตว์ ในการเลี้ยงสัตว์ ถ้าเป็นการเลี้ยงแบบหลังบ้านหรืองานอดิเรก สถานที่เลี้ยงสัตว์ไม่ค่อยมีปัญหา เพียงแต่เลือกที่ใดที่หนึ่งในบริเวณบ้านหรือที่ดินของตนให้เหมาะสม เนื่องจากปริมาณสัตว์ที่เลี้ยงไม่ค่อยมาก แต่ในการเลี้ยงเป็นอาชีพหลัก ทำเล สถานที่ในการเลี้ยงนับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่มีผลกระทบต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวในการทำฟาร์ม ดังนั้น ผู้เลี้ยงจะต้องพิจารณาอย่างระมัดระวังและรอบคอบ ดังเช่น
                                                1.2.1 สถานที่ควรอยู่ห่างไกลจากชุมชนและผู้เลี้ยงรายอื่น ๆ พอสมควร เนื่องจากการเลี้ยงสัตว์เป็นจำนวนมาก ปัญหากลิ่นมูลสัตว์และเสียงร้อง อาจรบกวนผู้อื่นเป็นปัญหาถึงขั้นต้องย้ายฟาร์มได้ และการตั้งสถานที่ทำฟาร์มในแหล่งเลี้ยงสัตว์ที่หนาแน่น ปัญหาโรคระบาดอาจเกิดและเข้ามาสู่ฟาร์มได้ง่าย
                                                1.2.2 ต้องอยู่ในทำเลที่เหมาะสม ในการติดต่อกับตลาดชุมชนและสะดวกในการขนส่ง การอยู่ใกล้ตลาดรับซื้อ และแหล่งผลิตอาหารสัตว์ ทำให้ประหยัดต้นทุนค่าขนส่ง ทั้งในด้านส่งตัวสัตว์ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ไปขาย และซื้อนำอาหารเข้ามาเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ในการตั้งฟาร์ม ถ้าเจ้าของจำเป็นต้องตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณฟาร์มด้วย จำเป็นต้องคำนึงถึงความสะดวกเหมาะสม สำหรับตนเองและครอบครัวในการติดต่อกับชุมชน เช่น ไม่ห่างไกลโรงพยาบาล โรงเรียนจนเกินไป
                                                1.2.3 ศัตรู ควรจะเลือกที่ที่มีศัตรูของสัตว์ให้น้อยที่สุดหรือไม่มีเลย ศัตรูของสัตว์เลี้ยงนอกจากพวกสัตว์ด้วยกัน เช่น เสือ งู เหยี่ยว พังพอน ฯลฯ แล้ว ศัตรูที่สำคัญที่สุดก็คือ คน ถ้าสถานที่ตั้งฟาร์มอยู่ในแหล่งที่มีขโมยมากคนมีนิสัยไม่ดีคอยแกล้ง จ้องลักขโมยตลอดเวลา กิจการก็ไปไม่รอด
                                                1.2.4 ดิน แม้ว่าในหลักการโดยทั่วไปจะพิจารณาว่า ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ปลูกพืชให้ผลผลิตไม่สูง จึงสมควรพิจารณานำมาเลี้ยงสัตว์ แต่ในทางปฏิบัติสำหรับผู้จะเลี้ยง โดยเฉพาะสัตว์ประเภทกินหญ้า หรือจำเป็นต้องปลูกพืชอาหารสัตว์เอง การเลือกสถานที่ที่ดินดี มีความอุดมสมบูรณ์สูง มีการระบายน้ำดี น้ำไม่ท่วม เป็นสิ่งจำเป็นในการผลิตพืชอาหารสัตว์ให้ได้ผลผลิตมาก ๆ
                                                1.2.5 น้ำ ควรมีน้ำมีคุณภาพดีและมีพอเพียง น้ำสะอาดเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสัตว์ในการเติบโตให้ผลผลิต ฟาร์มบางแห่งต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการกรองน้ำหรือทำน้ำให้สะอาดพอให้สัตว์ดื่มกินได้ เนื่องจากคุณสมบัติของน้ำไม่เหมาะสมและบางแห่งก็จำเป็นต้องหยุดกิจการหรือลดขนาดของฟาร์มลง เนื่องจากปัญหาขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะในหน้าแล้ง
                                                1.2.6 ควรมีพื้นที่กว้างขวาง เพื่อไม่ให้สัตว์อยู่อย่างแออัดและสามารถขยายกิจการในอนาคตได้ เมื่อกิจการเจริญขึ้น การขยายกิจการฟาร์มโดยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน นับว่าประหยัดและสะดวกในการควบคุมดูแลมากกว่าการแยกฟาร์มตั้งเป็น 2 หรือ 3 แห่ง
                                1.3 การลงทุน ในการเลี้ยงสัตว์นั้น ทุนที่ลงไปแบ่งได้เป็น 2 อย่าง
                                                1.3.1 ทุนหมุน ได้แก่ พวกค่าอาหาร ค่าเวชภัณฑ์สัตว์ ค่าตัวสัตว์และค่าแรงงาน เงินทุนพวกนี้ค่าอาหารสัตว์นับว่าสูงที่สุด โดยเฉพาะในการผลิตพวกสัตว์กระเพาะเดี่ยว ซึ่งกินอาหารข้นเป็นหลัก ค่าใช้จ่ายด้านอาหารจะสูงประมาณ 60 – 80 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนการผลิต ทั้งหมด ดังนั้น ทุนหมุนเวียนควรจะกันไว้อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของเงินทุนที่มี
                                                1.3.2 ทุนนอน ได้แก่ ค่าที่ดิน โรงเรือน อุปกรณ์ต่างๆ ทุนพวกนี้มักจะลงทุนครั้งเดียว แต่ต้องใช้เวลานานกว่าจะถอนทุนได้ ฉะนั้น การลงทุนประเภทนี้ไม่ควรเกินครึ่งของเงินทุนทั้งหมด การสร้างโรงเรือนควรถือหลักประหยัด แต่สัตว์ต้องอยู่สุขสบาย และมีประสิทธิภาพในการใช้โรงเรือนสูง
 เนื่องจากกำไรที่ได้จากการทำฟาร์ม มาจากตัวสัตว์โดยตรงมากกว่าการขึ้นราคาของที่ดิน ดังนั้น ในการลงทุนเลี้ยงสัตว์ ชนิดและประเภทของสัตว์ที่จะเลี้ยง จึงเป็นสิ่งที่ควรคำนึง สัตว์เล็กประเภทสัตว์ปีกและสุกร มีผู้นิยมลงทุนเลี้ยงกันมาก เนื่องจากมีวงจรการผลิตสั้นสามารถคืนทุนและกำไรมาสู่ผู้เลี้ยงได้ไวกว่าสัตว์ใหญ่
 
                                1.4 การตลาด ปัญหาการตลาด แม้จะอยู่นอกเหนือวงจรการผลิต แต่ปัญหาการตลาดก็นับว่าเป็นหัวใจสำคัญในการทำกำไรหรือขาดทุนให้แก่ผู้เลี้ยงสัตว์ เนื่องจากระบบตลาดการเกษตรของประเทศไทย ยังไม่มีระบบประกันราคาหรือควบคุมปริมาณการผลิตที่แน่นอนได้ผล ดังได้กล่าวมาแล้ว ฉะนั้น ผู้จะเริ่มต้นเลี้ยงสัตว์จำเป็นต้องศึกษาถึงความต้องการและความมั่นคงของตลาด มีหูตากว้างไกล ติดตามการเคลื่อนไหวและแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงในปริมาณการผลิตของสัตว์แต่ละชนิดอย่างใกล้ชิด ผู้เลี้ยงที่เข้าใจระบบตลาดได้ดี คาดการณ์ได้ถูกต้องสามารถผลิตภัณฑ์ ออกจำหน่ายถูกจังหวะในช่วงที่ความต้องการของตลาดสูง หรือราคาแพงก็ย่อมจะทำกำไรได้มาก
2. วิธีการเริ่มต้นเลี้ยงสัตว์
การเริ่มต้นเลี้ยงสัตว์สำหรับผู้ที่คิดจะเลี้ยงสัตว์นั้น เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะหากเริ่มไม่ดีแล้ว อาจทำให้การเลี้ยงสัตว์ล้มเหลวได้ แต่ถ้าหากเริ่มต้นได้ดีแล้วการเลี้ยงสัตว์จะประสบผลสำเร็จแน่นอน วิธีการเริ่มต้นเลี้ยงสัตว์มีดังนี้
 
                                2.1 เริ่มตนเลี้ยงแต่น้อยเพื่อเป็นการเรียนรู้ให้เกิดประสบการณ์และความชำนาญก่อน เมื่อมั่นใจแล้วค่อนขยายกิจการให้ใหญ่โตขึ้น การเริ่มต้นเลี้ยงแต่น้อยประสพความล้มเหลวก็จะ เสียเงินลงทุนไม่มาก
                                2.2 เริ่มต้นจากงานง่ายไปหางานยาก เนื่องจากในระยะแรกผู้เลี้ยงมือใหม่ยังขาด ความรู้ความชำนาญ แม้จะได้ศึกษาเรียนรู้จากตำราวิชาการมาบ้าง แต่ประสบการณ์และความมั่นใจย่อมจะยังไม่มาก ตัวอย่างเช่น ถ้าจะเลี้ยงหมูก็ควรจะเริ่มจากเลี้ยงหมูขุน ซึ่งเป็นงานหยาบ และ ไม่จำเป็นต้องใช้เทคนิควิชาการเข้าช่วยมาก เมื่อมีความรู้ความชำนาญพอเพียงค่อยขยับไปเลี้ยงหมูพันธุ์ ซึ่งต้องอาศัยความละเอียดและวิชาการเข้าช่วยในการผลิตมากขึ้น
                                
2.3 ตั้งต้นด้วยสัตว์พันธุ์ดี เพราะสัตว์พันธุ์ดีแม้จะมีราคาแพง แต่ก็ให้ผลผลิตสูง ใช้เวลาในการเลี้ยงสั้น และให้ผลตอบแทนคืนสู่ผู้เลี้ยงมากกว่าการใช้สัตว์พันธุ์เลว เมื่อคิดโดย ทั่ว ๆ ไปแล้วเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากว่าการเลือกเลี้ยงสัตว์พันธุ์เลวราคาถูก
3. หลักสำคัญในการเลี้ยงสัตว์
ในการเลี้ยงสัตว์โดยทั่ว ๆ ไปนั้น มีหลัก 3 ประการ ที่ผู้เลี้ยงควรปฏิบัติ เพื่อให้การเลี้ยงสัตว์ได้ผลดีที่สุด คือ ใช้พันธุ์ดี อาหารดี และการจัดการดี ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
                                3.1 เลี้ยงแต่สัตว์พันธุ์ดี เพราะสัตว์พันธุ์ดีจะโตไวใช้เวลาเลี้ยงสั้นให้ผลผลิตสูงและกินอาหารไม่เปลือง ตัวอย่างเช่น การเลือกเลี้ยงสุกรที่โตได้วันละ 9 ขีด ใช้เวลาเลี้ยงตั้งแต่เกิดจนถึงน้ำหนัก 100 กิโลกรัม ส่งตลาดเพียง 5 เดือน และกินอาหาร 2.5 กิโลกรัม ในการเติบโตได้ 1 กิโลกรัม ย่อมจะทำกำไรให้ผู้เลี้ยงมากกว่าการเลี้ยงสุกรที่โตได้วันละ 5 ขีด ใช้เวลาเลี้ยงจนส่งตลาดเมื่อ 100 กิโลกรัม นาน 6 เดือน และมีอัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อ 3.5 ต่อ 1
                                3.2 เลี้ยงด้วยอาหารที่ดี มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วนตามความต้องการของร่างกายสัตว์ในแต่ละระยะการเจริญเติบโตให้ผลผลิต รวมไปถึงมีวิธีการให้อาหารที่ถูกต้อง ย่อมจะทำให้สัตว์เจริญเติบโตได้เต็มที่
                                3.3 มีระบบการจัดการฟาร์มที่ดี การรู้หลักการจัดการฟาร์มที่ดี ทำให้ประหยัดต้นทุนและแรงงานในการเลี้ยงดูสัตว์ การใช้ประโยชน์จากที่ดินและโรงเรือนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหา
มลภาวะที่จะเกิดจากการเลี้ยงสัตว์ เช่น กลิ่นเน่าเหม็นของมูลสัตว์มีน้อยและป้องกันโรคระบาด ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสัตว์เลี้ยงได้
               บทสรุป
                การเลี้ยงสัตว์ก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้เลี้ยงมากมายทั้งได้ผลผลิต เนื้อ นม ไข่ เพื่อการบริโภค นอกจากนี้ผลผลิตอื่น ๆ เช่น ขน หนัง และเขา ยังเป็นผลพลอยได้จากสัตว์ที่สร้างรายได้ให้กับผู้เลี้ยงและประเทศชาติได้อีกทางหนึ่ง การเลี้ยงสัตว์ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมลูกโซ่ เช่น อุตสาหกรรมการแปรรูปผลผลิตจากสัตว์ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมการทำเครื่องใช้และของประดับจากสัตว์ ฯลฯ ซึ่งโดยสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติแล้วประเทศไทยสามารถเลี้ยงสัตว์ได้ดี มีแหล่งน้ำและแหล่งอาหารสัตว์สมบูรณ์ อย่างไรก็ตามผู้ที่จะประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์จะต้องมีความชอบก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นก็ศึกษาหาข้อมูลเพื่อให้การเลี้ยงสัตว์เกิดผลสำเร็จนั้นมี องค์ประกอบ 3 อย่าง ที่ต้องคำนึงถึงในการเลี้ยงสัตว์ คือ ใช้พันธุ์สัตว์ที่ดี ใช้อาหารดีและมีการจัดการที่ดี ในการเลี้ยงสัตว์จะให้ประสบผลสำเร็จที่ดีนั้นต้องดำเนินการทางสายกลางโดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจที่ดี เมื่อเศรษฐกิจดีแล้วก็จะทำให้สังคมและสิ่งแวดล้อมดีขึ้นด้วยซึ้งจะนำไปสู่ความก้าวหน้าอย่างสมดุลเพื่อวางรากฐานความมั่นคงในอาชีพเลี้ยงสัตว์จะทำให้อาชีพการเลี้ยงสัตว์นั้นยั่งยืนตลอดไป

            
            การเลี้ยงหมูป่า
หมูป่า : ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Sus scrofa  ชื่อสามัญ : Wild Boar หรือ Wild Pig  หรือ Common  Wild Pig ทั่วโลกพบทั้งสิ้น : 16 ชนิดย่อย (Subspecies) ประเทศไทยพบ  2  ชนิดย่อย สัดส่วนโดยทั่วไป ความยาวลำตัว 135 - 150  เซนติเมตร  ความยาวหาง  20 - 30  เซนติเมตรความยาวหู  95 - 105  เซนติเมตร.  ความสูงเพียงไหล่  600 - 750 เซนติเมตร น้ำหนัก 75 - 200 กิโลกรัม.  ระยะเวลาที่ตั้งท้อง 112 - 130 วัน จำนวนลูก 4 - 13 ตัวต่อครอก   ระยะเวลาที่ใช้เลี้ยงลูกอ่อน 3 - 4 เดือน สืบพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุ 7 – 8 เดือน อาหารกินได้ทั้งพืชและสัตว์ 
หมูป่าถือเป็นสัตว์ที่ทำลายพืชเศรษฐกิจตัวสำคัญ เพราะกินทุกอย่างที่มนุษย์ปลูกขึ้น จึงถูกล่าในแต่ละปีเป็นจำนวนไม่น้อย   ประกอบกับป่าไม้ถูกทำลาย   ถิ่นที่อยู่อาศัยของหมูป่าก็ได้รับผลกระทบไปด้วยซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชากรของหมูป่าลดน้อยลงไปเรื่อย  ๆ
                ถิ่นอาศัย, อาหาร
                 พบในทวีปยุโรป  เอเชีย  แอฟริกาเหนือ  อเมริกาเหนือ  ประเทศไทยพบทุกภาค  และมีมากในภาคใต้   หมูป่าเป็นสัตว์ที่กินได้ทั้งพืชและเนื้อสัตว์ อาหารของมันได้แก่    พืชผักต่าง  ๆ หญ้า  หน่อไม้     ข้าวโพด   ข้าวฟ่าง   หัวเผือก    มัน   รากพืช    แมลง    ลูกไม้ป่า  งู   หนู  หอย   จิ้งจก   ไส้เดือน   ซากสัตว์เน่า   ไข่และลูกนกที่ทำรังบนดิน   กบ   เขียด   ปลา   ปู     เรียกว่ากินเกือบทุกชนิดที่กินได้   นอกจากนี้ยังจับหนูเก่งมาก    ตามปกติจะพบเห็นหมูป่าอยู่รวมกันเป็นฝูงขนาดใหญ่ตั้งแต่  10   ตัวขึ้นไป และมีรายงานพบบางฝูงหมูป่าเกิน 100   ตัวก็มี หมูป่าจะออกหากินตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน และพบบ่อยในช่วงเช้าตรู่และบ่ายแก่ ๆ จนถึงค่ำมืด ในฝูงหนึ่ง ๆ   ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยแม่หมูป่าที่โตเต็มวัยเป็นตัวนำฝูงและบรรดาสมาชิกหมูป่าที่ยังไม่โตเต็มวัย ส่วนหมูป่าเพศผู้ที่โตเต็มวัยจะแยกไปหากินโดดเดี่ยว ไม่ห่างจากฝูงมากนัก และจะกลับเข้าฝูงอีกครั้งในฤดูผสมพันธุ์
                พฤติกรรม, การสืบพันธุ์
               ชอบอาศัยอยู่ตามป่าดิบแล้งและป่าเต็งรัง ที่ราบตามไหล่เขา ตามหนองน้ำ ชอบอยู่เป็นฝูงออกหากินตอนเช้าหรือเย็นหรือตอนกลางคืน  กลางวันมักหลบซ่อนพักผ่อนอยู่ตามพุ่มไม้ ปลักตม หรือลำธาร ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ตัวผู้จะต่อสู้กันอย่างดุร้าย  ถึงหมูป่าจะมีเขี้ยวที่ใหญ่ยาวแต่การประลองเพื่อแย่งคู่ครองนี้หมูป่ารู้ดีว่าไม่ควรใช้อาวุธชนิดนี้   เพราะจะทำให้เกิดเลือดตกยางออกทั้งสองฝ่าย จึงเลือกใช้วิธีทดสอบแบบง่าย  ๆโดยการวิ่งเข้าหากันและใช้ส่วนที่เป็นหน้าผาก หรือส่วนที่เป็นหัวไหล่ชนกัน  และหมูตัวที่แพ้ก็จะผละจากไปการผสมพันธุ์นั้นหมูตัวผู้จะมีอวัยวะเพศพิเศษ บางอย่างที่ไม่เหมือนสัตว์อื่น ๆ  คือ "มีลักษณะเป็นเกลียว" และหลังจากการรวมตัวของอสุจิของเพศผู้กับไข่ที่สุกของเพศเมีย และได้ฝังตัวอยู่ในผนังมดลูกของแม่หมูป่าแล้วนั้น การแบ่งขยายของเชลล์จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆจนกลายเป็นลูกหมูป่าที่ลืมตาดูโลก   ในช่วงการคลอดแม่หมูป่าจะมีการสร้างรังเพื่อเลี้ยงดูลูกอ่อนซึ่งแปลกมากสำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  ปกติการสร้างรังจะเป็นของนกเป็นส่วนใหญ่ แม่หมูป่ามีรูปแบบการสร้างรังที่แน่นอน โดยเริ่มจาก  แม่หมูป่าไปคาบกิ่งไม้ใบไม้มากองสุมกันมองดูภายนอกแล้วมองดูคล้ายกระโจม ส่วนภายในแม่หมูป่าจะขุดดินให้เป็นแอ่งตรงกลางให้พอดีสำหรับการคลอดและเลี้ยงดูลูก  โดยปกติแม่หมูป่าจะตั้งท้องประมาณ 100-130 วัน ให้ลูกจำนวน 4-13  ตัวต่อครอก  ลักษณะของลูกหมูป่าที่เกิดใหม่  ๆ  มีขนสีน้ำตาลดำและมีลายขีดสีขาวเป็นแนวยาวตามลำตัว คนส่วนใหญ่จะเรียกว่ามีลักษณะคล้าย  "ลูกแตงไทย"  โดยให้เหตุผลว่าสีสันของลำตัวแบบนี้ดูแล้วเหมาะสมกับการพรางให้ดูกลมกลืนกับธรรมชาติ
ลักษณะหน้าตาของหมูป่า


หมูป่าจัดอยู่ในอันดับสัตว์กีบคู่ (Artiodactyla) ซึ่งมีลักษณะเด่นที่ตีนหรือขา   ขาแต่ละข้างประกอบด้วยนิ้วที่ได้ดัดแปลงมา ด้วยเวลาอันยาวนานจนเป็นกีบที่ใช้เดินสองอัน ส่วนอีกสองกีบด้านหลังกระเถิบยกตัวสูงขึ้นไม่สัมผัสพื้น   ปรากฏเหลือเป็นติ่ง (dew toe) และกีบคู่นี้ไม่อยู่สูงมากเท่าสัตว์กีบคู่กลุ่มอื่น ๆ  เช่น กวาง, วัว, ควาย เป็นต้น นักธรรมชาติวิทยาได้บรรยายหน้าที่ของเขี้ยวว่า  ช่วยในการงัดรากไม้และใช้เป็นอาวุธป้องกันตัว   ส่วนจมูกที่ยื่นยาวบริเวณปลายเคลื่อนไหวได้ดี มีไว้เพื่อขุดดินหาอาหาร และเนื่องจากหมูป่ามีโพรงจมูกที่ยาวย่อมแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการรับกลิ่นที่ดีมาก ขนาดสามารถรับกลิ่นหาอาหารประเภทหัว เช่น หัวมัน รวมทั้งสัตว์เล็ก  ๆ  ในดินแล้วซุยมากินได้อย่างสบาย
พันธุ์หมูป่าที่นิยมเลี้ยง 
การเลือกสายพันธ์ของสัตว์จะต้องมีความรู้และหลักวิชาการทุกด้านเพื่อให้เราได้สัตวืเลี้ยงในสายพันธุ์ที่ดี 
พันธุ์หมูป่าที่นิยมเลี้ยง  เดิมมีการเลี้ยงอยู่  2  พันธุ์  คือ  หมูป่าพันธ์หน้ายาว   และหมูป่าพันธ์หน้าสั้น   แต่ในปัจจุบันมีผู้ทดลองเอาหมูป่าทั้งสองสาย พันธุ์มาผสมกันเรียกกันว่าพันธุ์ผสม  ซึ่งจะได้หมูที่โตเร็วเพิ่มขึ้น   1/3  เท่าของพันธุ์เดิม
1. หมูป่าพันธุ์หน้ายาว  จะมีลักษณะขนสีดอกเลาลำตัวค่อนข้างบางรูปร่างสูงโปร่ง
กว่าพันธ์หน้าสั้น   หนังหนากว่าพันธุ์หน้าสั้น   หมูป่าพันธุ์นี้โดยธรรมชาติแล้วมักจะหากินตามป่าตื้น  ๆ




                       2. หมูป่าพันธุ์หน้าสั้น จะมีรูปร่างที่ผิดจากพันธุ์แรกคือ รูปร่างไม่ค่อยสูงโปร่งหน้าตา คล้ายหมูพันธุ์ไหหลำที่พวกแม้วนิยมเลี้ยง ลำตัวอ้วนกลม ขนสีดำ ลำตัวเตี้ยกว่า หนังบางกว่า แต่หนังจะหนาได้เร็วกว่าหมูป่าพันธุ์หน้ายาว หนังหนาหนังบางจะมีผลต่อราคาเนื้อหมูชำแหละ เพราะผู้บริโภคมักนิยมกินหนังหมูป่าเพราะมีความกุบกรอบ เวลาชำแหละเนื้อหมูจึงต้องให้มีหนังติดทุกชิ้น หมูป่าพันธุ์นี้ถ้าอยู่ตามธรรมชาติมักหากินตามป่าลึกๆ


การสังเกต
การสังเกตหมูป่าว่า   หมูป่าตัวไหนเป็นหมูป่าพันธุ์หน้ายาว ตัวไหน เป็นหมูป่าพันธุ์หน้าสั้น  จะใช้แต่ความยาวความสั้นของหน้าเป็นตัวชี้วัดไม่ได้   เพราะบางทีหมูป่าพันธุ์หน้าสั้นจะมีหน้าที่ยาวกว่าหมูป่าพันธ์หน้ายาวถ้ามีอายุแตกต่างกันมาก   ดังนั้นจึงต้องอาศัยส่วนประกอบ   อื่น  ๆ  ดังที่กล่าวมาแล้วเข้ามาช่วยในการพิจารณาความกว้างของหน้าผากก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง   กล่าวคือ  หมูป่าพันธุ์หน้าสั้น จะมีหน้าผาก   กว้างกว่า  หมูป่าพันธุ์หน้ายาว จะมีหน้าผากแคบมาก

ขั้นตอนการเลี้ยงหมูป่า
-  การเลี้ยงหมูป่าในขั้นแรก ต้องจัดหาพันธุ์มาเพื่อเตรียมไว้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ก่อนส่วนการที่จะเลือกลูกหมูป่าอายุเท่าไรมีข้อควรคำนึงหลายประการด้วยกัน   ดังนี้
                           1.    ลูกหมูป่า อายุ    45   วันขึ้นไปหรือลูกหมูป่าที่อย่านมแล้วอายุประมาณ 12   เดือน   มีข้อดีคือ   ลงทุนค่อนข้างต่ำ    ส่วนข้อเสียคือให้ผลตอบแทนค่อนข้างช้าลูกหมูอาจได้รับอันตราย   ระหว่างการเคลื่อนย้ายลูกหมูป่าอาจเกิดความเครียด ทั้งยังต้องมาเปลี่ยนอาหารระหว่างวัย ผู้ซื้อต้องมีความรู้ความชำนาญ
                           2.   ลูกหมูอายุ  45 เดือนเป็นลูกหมูป่าที่ลายแตงไทยกำหลังจะจางหายไป   ลูกหมูวัยนี้มีความสมบูรณ์แข็งแรงราคาสูงขึ้น  ค่อนข้างปลอดภัยกว่าหมูเล็กอัตราการตายน้อย  ใช้เวลาอีก  45 เดือนก็สามารถผสมพันธุ์ได้
                            3.  การซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มาเลี้ยงโดยตรง  ลงทุนสูง  ปลอดภัย  เห็นผลได้เร็ว   สิ่งที่ควรพิจารณาในการตัดสินใจอีกประการหนึ่งคือ    การเดินทางไม่ควรให้ไกลมาก    ต้องเป็น  พันธุ์แท้  เป็นพันธุ์หมูป่ามาจากฟาร์มที่ไว้ใจได้แน่ใจถึงลักษณะที่ถูกต้องของหมูป่าไม่ว่าจะเป็นพันธุ์หน้าสั้นหรือพันธุ์หน้ายาว  สมควรเข้าไปดูถึงในฟาร์ม  เหล่ากอของสายพันธุ์เป็นอย่างไร   ปราศจากโรคร้ายมาก่อนหรือไม่    รวมทั้งการสังเกตลักษณะทั่วไปภายในฟาร์ม  สุขอนามัยของหมูป่า     การป้องกันโรค   สังเกตถึงความสมบูรณ์ของหมูป่าในฟาร์ม                                                  
          สรุปการเริ่มต้นเลี้ยงหมูป่าทำได้อยู่    2    วิธีคือ       
                   1.   เริ่มต้นด้วยการซื้อลูกหมูป่ามาเลี้ยงเพื่อเตรียมเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เสียก่อนโดยคัดเลือกหมูป่าสายเลือดดี  เจริญเติบโตดี  มีประวัติของพ่อแม่ให้ลูกดกมีการเจริญเติบโตดี  การเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์ควรใช้อัตราส่วนพ่อพันธุ์  1  ตัวต่อแม่พันธ์  710 ตัว    แต่ถ้าจะเลี้ยงกันแบบเศรษฐกิจพอเพียงก็ทดลองเลี้ยงเป็นคู่ก็จะให้ผลได้ดีเช่นกันเพราะชาวบ้านมักนิยมเลี้ยงกันแบบสร้างคอกไว้หลังบ้านใช้เศษอาหารเศษผัก   หญ้า    ต้นกล้วย ฯลฯ   เป็นอาหาร    ซึ่งเป็นการลดต้นทุนได้อีกทางหนึ่ง    ผลตอบแทนถึงจะช้า แต่เป็นการฝึกปฏิบัติสำหรับผู้ที่ยังไม่มีความรู้ความชำนาญ
                   2.   ซื้อพ่อพันธ์แม่พันธุ์จากฟาร์มมาเลี้ยงโดยตรงแต่ต้องลงทุนมากพอสมควรเพราะพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มีราคาแพงพอสมควร    แต่ผลที่ได้กลับเห็นผลเร็วขึ้นความปลอดภัยมากกว่าวิธีแรก    หมูป่าเพศผู้จะมีราคาถูกกว่าหมูป่าเพศเมีย   เช่น    ลูกหมูคู่ละ  3, 500   บาทจะเป็นราคาหมูเพศผู้ประมาณ 1,000 บาทเท่านั้น
อาหารและการให้อาหาร
หมูป่าเป็นสัตว์ที่กินอาหารทั้งพืชและสัตว์(Omnivore)  มีกระเพาะเดี่ยว และระบบย่อยอาหารที่มีประสิทธิภาพดีจึงสามารถกินอาหารได้หลากหลายชนิด อาหารในธรรมชาติของหมูป่าได้แก่ พืชบนดิน 
รากพืชใต้ดิน  หัวพืช  ผัก  หญ้า   ผลไม้ที่ร่วงหล่นบนพื้นดิน  ตลอดจนไส้เดือน  กิ้งกือ  แมลง  ไข่มด  กิ้งก่า  จิ้งเหลน  สารพัดเท่าที่จะหาได้  แม้แต่ซากพืช  ซากสัตว์  เมื่อนำมาเลี้ยงในฟาร์ม  เป็นสัตว์  เศรษฐกิจจึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะปรับตัวเข้ากับอาหารเม็ด  สิ่งสำคัญคือ  คุณค่า  คุณภาพและปริมาณของอาหารที่เพียงพอเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของหมูป่า และ ปราศจากโรค  
 อาหารของหมูป่าพอที่จะจำแนกออกได้   ดังนี้
1.  อาหารหยาบ    เป็นอาหารที่มีเยื่อใยสูง  มีปริมาณโภชนะย่อยได้ต่ำ  เช่นลำต้นและใบของพืช  ใช้เป็นอาหารหลักของหมูป่า หาได้ง่ายราคาถูกได้แก่  ต้นกล้วย  หยวกกล้วย  ปลีกล้วย  ผักบุ้ง  ผักขม   ยอดอ้อย   ผักตบชวา  ใบกระถิน  เมล็ดข้าวโพด  ฝักข้าวโพด  หน่อไม้  เปลือกขนุน   มะม่วงแตงโม   เผือก  มัน  รวมทั้ง  เศษผักสดเหลือทิ้งตามตลาด  พืชผักดังกล่าวสามารถนำมาให้หมูป่ากินได้ทันที   อาหารหยาบดังกล่าวสามารถจัดหามาเลี้ยงหมูป่าให้กินได้ทันทีจึงเป็นที่กล่าวกันว่า หมูป่าเลี้ยงง่ายต้นทุนค่าอาหารต่ำ   ไม่มีปัญหาในการดูแล  แต่ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง  วิธีการลดต้นทุนค่าอาหารหยาบลงได้อีกทางหนึ่ง  คือ  การปลูกผักหญ้าควบคู่ไปกับการเลี้ยงหมูป่า   ซึ่งจะทำให้มีอาหารหยาบที่มีคุณภาพดี  ปลอดสารพิษ  ทำให้หมูป่าแข็งแรงเจริญเติบโต
2. อาหารข้น   เป็นอาหารที่เยื่อใยน้อย  มีโภชนะย่อยได้สูง  เป็นอาหารที่นำมาใช้ควบคู่กับอาหารหยาบเพื่อเสริมสร้างความเจริญเติบโตให้กับหมูป่า    แบ่งเป็น  2  ชนิด                 
                2.1  อาหารสำเร็จรูป  คือ  อาหารผสมหรือหัวอาหารที่ได้จากการผสมวัตถุดิบชนิดต่าง    มีสารอาหารเหมาะสมครบถ้วนกับความต้องการของฟาร์มทั่วไป  นำไปใช้เลี้ยงหมูป่าได้ทันทีมีทั้งชนิดผงและชนิดอัดเม็ด  นิยมเรียกว่าอาหารถุง  มีจำหน่ายตามร้านขายอาหารสัตว์ทั่วไป
                2.2   อาหารผสมจากวัตถุดิบภายในฟาร์ม  เรียกได้ว่า  อาหารเหลวคุณภาพต่ำกว่าอาหารผสมสำเร็จรูป  แตใช้เลี้ยงหมูป่าบางช่วงวัยได้ดีและประหยัด  เช่น  การใช้ปลายข้าวผสมรำข้าว  ปลายข้าวผสมผักต่าง  ๆ  เศษอาหารเหลือทิ้งตามบ้าน  รำข้าวผสมต้นกล้วยหรือหลายอย่าง ผสมกันตามความต้องการของผู้เลี้ยง
               
การให้อาหารหมูป่า   แบ่งเป็น  5  ระยะ  วันละ  2  มื้อ  เช้า - เย็น   

1. อาหารสำหรับหมูนม    ควรให้อาหารสำเร็จรูปหรือรำข้าว  หมูป่าเล็กจะหัดเลียรางตามแม่เมื่อประมาณ  15  วัน  ให้กินวันละ  3  มื้อ   เช้า   กลางวัน   เย็น  ให้โดยการฝึกทีละน้อยและเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆตามความสามารถในการกินของลูกหมูให้กินเรื่อยไปจนลูกหมูป่า หย่านมและหลังอย่านมประมาณ  10  วัน  หรือจะให้กินจนหมูเล็กมีอายุถึง  60  วันจึงเปลี่ยนเป็นอาหารหมูรุ่น
2. อาหารหมูรุ่น    หมูในช่วงนี้ให้อาหารวันละ 0.3- 0.5  กิโลกรัมต่อตัว    อาหารส่วนใหญ่เป็นจำพวกอาหารหยาบ เช่น  ผัก  หญ้า  ใบกระถิน  เป็นต้น  หมูป่าวัยนี้จะกินอาหารน้อยกว่า หมูบ้านหลายเท่า  หมูป่า  10  ตัวจะกินอาหารข้น  2 - 3 กิโลกรัมต่อวัน
3. อาหารหมูขุน   หมูในช่วงนี้ให้อาหารวันละ  0.5  กิโลกรัมหรือตามความสามารถในการกินของหมูป่าจนกว่าหมูป่าจะมีอายุครบ  1  ปี   ก็สามารถชำแหละได้  จะมีน้ำหนัก ประมาณ  6080 กิโลกรัม
4. อาหารแม่พันธุ์หมูป่าระยะตั้งท้อง   แม่หมูป่าที่ผสมติดแล้วจะกินอาหารวันละ 1 กิโลกรัมเป็นเวลา  2.5  เดือน แล้วจึงค่อยให้อาหารเพิ่มขึ้นเป็นวันละ  1.5 - 2   กิโลกรัม จนถึง 2 อาทิตย์ก่อนคลอดจึงลดอาหารลงให้กินวันละ  1   กิโลกรัม
5. อาหารหมูป่าหลังคลอด    เป็นระยะที่หมูป่าต้องให้นมลูกจึงต้องการอาหารเพิ่มมากขึ้นเป็น วันละ  3   กิโลกรัมเรื่อยไปจนลูกหมูอย่านมจึงลดอาหารมาเป็นปกติ
หลายท่านอาจสงสัยว่าจะให้อาหารหมูป่าทั่วไปตั้งแต่แรกเกิดหรือไม่  ขอแนะนำว่าควรให้อาหารข้นในระยะแรกๆ ก่อนถัดไปนั้นจึงค่อยๆเปลี่ยนเป็นอาหารหยาบทีละน้อย ๆ ไปจนเป็นอาหารหยาบทั้งหมด  การปนอาหารหรือผสมอาหารนั้นต้องไม่ให้หัวอาหารมากจนเกินไป   จะทำให้หมูป่าท้องร่วงเน้นการทำให้ประหยัดที่สุดเท่าที่จะกระทำได้   ถ้ามีจำพวกพืช  ผัก  เผือก   มัน   ต้นอ้อย   หญ้าหรือพืชผักที่เหลือกินเหลือใช้จะให้เป็นอาหารเสริมก็เป็นการดีที่สุด